ขี้แรด ๑

Acacia megaladena Desv. var. magaladena

ชื่ออื่น ๆ
ผักและ, หนามหัน (เหนือ); หนามขี้แรด (ตะวันตกเฉียงใต้), ฮาย (ใต้)
ไม้เลื้อย ลำต้นมีหนาม กิ่งอ่อนและใบอ่อน มีขน ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียน หูใบรูปแถบแกมรูปเส้นด้าย ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง ๐.๘ มม. ขึ้นไป ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาวนวล ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนานแบน บาง

ขี้แรดชนิดนี้เป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ เลื้อยพาดพันยอดไม้ใหญ่ ลำต้นมีหนาม กิ่งอ่อนและใบอ่อนมีขนสั้น

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียน แกนกลางยาว ๑๐-๓๐ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๑.๕-๖.๕ ซม. มีต่อมอยู่ประมาณกลางก้าน หูใบรูปแถบแกมรูปเส้นด้าย กว้าง ๐.๔-๐.๘ มม. ยาว ๒-๓ มม. มีขน แขนงใบประกอบ ๘-๒๐ คู่ เรียงตรงข้าม ยาว ๒-๑๒ ซม. แต่ละคู่มีต่อม ๑ ต่อม ใต้บริเวณรอยต่อของแกนกลางย่อย ยกเว้น ๒-๓ คู่ปลายสุด แกนกลางย่อยยาว ๒.๕-๗ ซม. มีใบย่อย ๑๙-๘๑ คู่ รูปขอบขนาน กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๔-๘ มม. ปลายทู่ โคนตัดและเบี้ยว ขอบมีขนครุย แผ่นใบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบเห็นชัดเจน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ใบประดับรูปช้อนแกมรูปไข่ขนาดประมาณ ๑ มม. ดอกเล็ก สีขาวนวล กลีบเลี้ยงขนาด ๑.๗-๒.๙ มม. โคนติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เกลี้ยงหรือมีขนประปราย กลีบดอกขนาด ๒-๓.๔ มม. โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับแคบ เกลี้ยงหรือมีขนประปรายที่ปลายแฉก เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๕ มม. ไม่ติดกัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปแถบ มีขน มี ๑ ช่องและมีออวุลมาก

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนาน แบน บาง กว้าง ๑.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๙.๕-๑๗ ซม. ปลายแหลม โคนสอบ มีเมล็ดประมาณ ๑๒ เมล็ด เมล็ดรูปรีแกมรูปไข่ สีน้ำตาล กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๗-๙ มม.

 ขี้แรดชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าโปร่งและชายป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐๐-๑,๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ อินเดีย เนปาล พม่า ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้แรด ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Acacia megaladena Desv. var. magaladena
ชื่อสกุล
Acacia
คำระบุชนิด
megaladena
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Desvaux, Nicaise Auguste
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. magaladena
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1784-1856)
ชื่ออื่น ๆ
ผักและ, หนามหัน (เหนือ); หนามขี้แรด (ตะวันตกเฉียงใต้), ฮาย (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม